มีแต่จะยิ่งทำให้เชื้อโรคกระจาย
หลายคนเมื่อไปรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่าง ชาบู หมูกระทะ สุกี้ หรือหม่าล่า ก็อาจจะเคยชินกับการใช้ตะเกียบคีบหมูดิบลงหม้อ และนำตะเกียบเดิมคีบอาหารเข้าปากอีกที แต่รู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมแบบนี้อาจนำไปสู่อันตรายที่ถึงแก่ชีวิตได้ เพราะเชื้อโรคหรือพยาธิต่าง ๆ จะติดมากับตะเกียบ หรือภาชนะอื่น ๆ และเข้าสู่ร่างกายในที่สุด
พฤติกรรมดังกล่าวเปรียบเสมือนการรับประทานเนื้อหมูดิบหรือหมูปรุงไม่สุก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อพยาธิ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่ทำให้มีอาการท้องเสีย นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สเตรปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) หรือไข้หูดับ ที่เป็นอันตรายต่อให้เกิดเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ดังนั้นพอรู้ว่าการใช้ตะเกียบคีบหมูไม่สุกทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว หลายคนจึงเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีจุ่มตะเกียบลงในน้ำซุป เพื่อหวังให้ความร้อนช่วยฆ่าเชื้อโรค และแบคทีเรียต่าง ๆ ออกไปได้ แต่การนำตะเกียบไปจุ่มในน้ำซุปเพียงชั่วครู่นั้น ไม่สามารถช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งหมด เพราะความร้อนกับระยะเวลาที่ใช้ไม่พอที่จะทำให้เชื้อตาย แถมเมื่อจุ่มตะเกียบซ้ำหลาย ๆ รอบ ยังเสี่ยงทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วภาชนะบรรจุอาหารได้อีกด้วย
นอกเหนือจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส ที่ทำให้เกิดโรคไข้หูดับแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) หรืออีโคไล (E. coli) ได้ ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ ติดเชื้อในลำไส้ ส่งผลให้มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้ หรืออาเจียน เพราะเชื้อสองชนิดนี้มีความทนทานต่อความร้อนสูง การใช้ตะเกียบเดิมคีบอาหารที่ยังไม่สุก แล้วนำไปจุ่มลงในน้ำซุปร้อน ๆ เพียงไม่กี่วินาที ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้ได้เลย ดังนั้นถ้าไม่อยากป่วยหลังทานของอร่อย ก็ต้องรู้จักป้องกัน และดูแลตัวเองให้เป็น เพื่อหนีให้พ้นจากโรคไข้หูดับ อาหารเป็นพิษหรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากรับประทานของดิบ รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่คนผู้ร่วมโต๊ะคนอื่น ๆ ที่รับประทานอาหารด้วยกันด้วย แม้จะดูยุ่งยากไปสักนิด แต่รับรองว่าป้องกันเอาไว้ดีกว่าสายเกินแก้แน่นอน โดยสามารถเริ่มต้นป้องกันได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. ล้างมือ และอุปกรณ์ทานอาหารให้สะอาด
ก่อนทานอาหารทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด และตรวจเช็คอุปกรณ์ทานอาหารทุกครั้งว่าสะอาดดีหรือไม่ เพื่อป้องกันเชื้อโรคก่อนการทาน
2. หลีกเลี่ยงการใช้ตะเกียบคู่เดียวในการรับประทานอาหาร
ควรแยกตะเกียบสำหรับคีบอาหารดิบ และตะเกียบสำหรับรับประทานอาหาร ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ
3. ไม่นำตะเกียบที่คีบอาหารดิบแล้ว จุ่มลงในน้ำซุป
แม้จะแยกจะเกียบสำหรับคีบอาหารแล้วก็ตาม ไม่ควรนำตะเกียบที่คีบอาหารดิบไปจุ่มลงในน้ำซุป เพราะอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วภาชนะบรรจุอาหาร และอาจเข้าสู่ร่างกายของผู้ร่วมโต๊ะคนอื่น ๆ ได้
แม้จะบอกว่าวิธีเหล่านี้สามารถทำได้ง่าย ๆ แต่แน่นอนว่าในปัจจุบันคนไทยยังไม่ได้ตระหนักรู้ถึงความอันตรายของการใช้ตะเกียบคู่เดียวในการทานอาหารสักเท่าไหร่นัก หลายคนก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะไม่มีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง และชี้ให้เห็นถึงความอันตรายอย่างชัดเจน หรือบางคนก็รู้ว่าอันตราย แต่ขี้เกียจทำ เอาความสะดวกรวดเร็วเข้าว่า โดยหลงลืมประเด็นเรื่องสุขภาพไปเลย และทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นสาเหตุของการติดเชื้อต่าง ๆ ในท้ายที่สุด