ช่วงปลายฝน ต้นหนาวของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นช่วงเวลาที่ “โรคหวัด” และ “โรคไข้หวัดใหญ่” จะกลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ก็ยังมีแนวโน้มว่าจะอยู่ไปอีกยาว ๆ เรียกได้ว่าเรากำลังเผชิญกับโรคที่มีอาการค่อนข้าง “คล้ายกัน” ในเวลาเดียวกัน ทำให้เวลาที่เริ่มมีอาการป่วยขึ้นมา หลายคนเริ่มแยกไม่ออกว่าอาการป่วยที่เป็นอยู่ตอนนี้เข้าข่ายเป็นแค่โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ หรือเป็นโรคโควิด 19 กันแน่นะ ?
ดังนั้นเราจึงควรทำความรู้จัก และแยกความแตกต่างของทั้งโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด 19 ให้ได้ เพื่อให้สามารถเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที รวมถึงจะได้ดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธีเพื่อเป็นการป้องกันโอกาสที่โรคจะลุกลามจนมีอาการรุนแรง และยังลดความเสี่ยงการในติดโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกด้วย
มาเริ่มต้นกันที่ “โรคหวัด” เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อย เกิดจากการเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน ถือเป็นอาการเบาที่สุดในสามโรคนี้ก็ว่าได้ โดยในผู้ใหญ่อาการจะน้อยมาก อาจมีแค่คัดจมูกและน้ำมูกไหล และเป็นไม่เกิน 2 – 5 วัน โรคนี้ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่ไอ หรือจาม และการสัมผัสมือที่ติดสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย
ถัดมาที่ “โรคไข้หวัดใหญ่” เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) แบ่งเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว ติดต่อได้จากการ ไอ จาม หรือหายใจรดกันในที่ที่มีคนอยู่แออัด หรือติดต่อทางละอองฝอยของน้ำมูก และน้ำลาย หรือติดต่อจากมือที่มีเชื้อไวรัสอยู่แล้วนำไปสัมผัสที่จมูกหรือปากทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ โดยอาการของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน คือ ไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา อ่อนเพลียจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำได้ และอาการดังกล่าวจะมีระยะการแสดงออกมานานกว่าโรคหวัดปกติ
ส่วน “โรคโควิด 19” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนา ถือเป็นโรคติดต่อจากระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ แต่สามารถแพร่กระจาย และติดต่อได้ง่ายกว่า โดยอาการของโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ คือ ไอ เจ็บคอ มีไข้ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเหนื่อยล้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ แต่จะมีอาการแสดงที่ชัดเจนเพิ่มเติม อย่างเช่นอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ไอแห้ง จมูกไม่ได้กลิ่น และลิ้นไม่ได้รับรส ซึ่งนี่คือจุดที่ทำให้เราสามารถแยกความแตกต่างของทั้งสามโรคได้ชัดเจนมากขึ้น
เนื่องจากโรคหวัด และโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ร่างกายของคนเราจึงมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง แต่โรคโควิด 19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ร่างกายของมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากนัก ทำให้เวลาที่เชื้อเข้าไปในร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ เชื้อโรคจะลามเข้าไปสู่ปอด ส่งผลให้มีโอกาสเกิดอาการปอดบวม ปอดอักเสบ ได้มากกว่าโรคหวัด หรือโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น
การป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด 19 คือ การหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่เอามือไปสัมผัสหน้า และตา หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนแออัด รวมถึงควรสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ที่สำคัญควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด 19 เป็นประจำทุกปีด้วย
อีกหนึ่งความสำคัญ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรง และมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี เพราะภูมิต้านทานนี้จะกลายเป็นด่านสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรคทุกชนิด และทำหน้าที่ป้องกันโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคโควิด 19 ก็ตาม เราก็ไม่ควรละเลย หากมีอาการชัดเจนของโรคใดโรคหนึ่งในสามโรคนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที ดังนั้นการมี “ประกันสุขภาพ” เอาไว้จะช่วยทำให้คุณอุ่นใจกว่าเมื่อต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะประกันสุขภาพจากเอไอเอ จะช่วยดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้คุณได้รักษาตัวอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น