เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day)
“ความเครียดจากการทำงาน” ถือเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม โดยจากผลสำรวจพนักงานทั่วโลกล่าสุดที่จัดทำโดย Gallup1 พบว่าพนักงานในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกถึง 52% กำลังเผชิญกับสภาวะความเครียดจากการทำงาน ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ถูกจัดเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีความเครียดจากทำงานมากที่สุดในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์และเมียนมาร์ โดยกว่า 64% บอกว่าตนเองนั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะความเครียดจากการทำงานหนัก
ถึงเวลาแล้วที่เราจะลองพักการทำงานสักแป๊บ แล้วมาสำรวจตัวเองกันก่อนว่ามีอะไรที่ทำให้เราเครียดจากการทำงานได้บ้างในแต่ละวัน เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day ปีนี้กัน
1. เครียดจากปริมาณงาน
ลองพิจารณาดูว่า งานเยอะเกินไปหรือเปล่า? จากผลสำรวจพบว่าปัญหาที่คนทั่วโลกยกให้เป็นอันดับหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) และอาการซึมเศร้า (Depression) นั่นคือ ปริมาณงานที่เยอะเกินจะรับไหว
ซึ่งคำแนะนำสำหรับข้อนี้นั้นก็ต้องบอกเลยว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก ๆ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมและพบว่าพอจะช่วยให้ปัญหาเบาบางลงได้คือ การจัดลำดับความสำคัญในงานเพื่อช่วยให้เราจัดการงานได้ดีขึ้น ให้ความสำคัญในการตั้งวันส่งงานที่เป็นไปได้จริงเพื่อไม่ให้ต้องอัดทำงานในช่วงเวลาสั้น ๆ และสุดท้ายควรตั้งเวลาพักเป็นระยะเพื่อไม่ให้ความเครียดสะสมมากจนเกินไป
2. เครียดจากการเดินทาง
คุณเป็นอีกคนใช่หรือไม่? ที่เครียดจากการเดินทางไปและกลับจากที่ทำงาน ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ขึ้นชื่อเรื่องรถติดแทบจะทุกพื้นที่ในเวลาเร่งด่วน ยิ่งวันไหนฝนตก ก็ยิ่งทำให้เกิดความเครียดในการเดินทางได้
ข้อแนะนำที่อาจช่วยให้คุณผ่อนคลายได้ง่าย ๆ ก็คือ การฟังเพลงหรือดูคลิปที่เราสนใจระหว่างการเดินทาง หรือถ้าใครมีกองหนังสือที่ซื้อมาดองไว้ แต่ยังไม่มีโอกาสได้หยิบมาอ่านซักที การติดหนังสือไปสักเล่มเพื่ออ่านระหว่างเดินทางโดยเฉพาะในช่วงที่รถติด ๆ ก็เป็นไอเดียที่ดี รวมถึงอย่าลืมเผื่อเวลาการเดินทางไว้บ้างในวันที่รถติดเป็นประจำ
3. เครียดจากสภาวะแวดล้อมในการทำงาน
นอกเหนือจากตัวงานที่ต้องทำแล้ว สภาวะแวดล้อมในที่ทำงานก็อาจส่งผลต่อความเครียดได้เช่นกัน ทั้งบรรยากาศในที่ทำงาน วัฒนธรรมองค์กร หรือแม้แต่ลักษณะนิสัยส่วนตัวของเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดความเครียดไปจนถึงสภาวะหมดไฟในการทำงานได้ทั้งสิ้น
แม้จะเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม แต่หนึ่งในคำแนะนำที่เราอยากให้คุณลองทำก็คือการมีเพื่อนสนิทสักคนในที่ทำงานไว้คอยเป็นพื้นที่ปลอดภัย ฮีลใจในยามเหนื่อยล้า หรือแม้แต่นั่งคุยเรื่องสัพเพเหระกันระหว่างวัน กินข้าวด้วยกันตอนพักเที่ยง หรือไปไหนมาไหนด้วยกันหลังเลิกงาน
ลองเปิดใจให้ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน แล้วจะรู้ว่าการมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานนั้นดีต่อใจ และเปลี่ยนแปลงชีวิตวันทำงานอันแสนเคร่งเครียดของคุณไปได้ขนาดไหน
วันสุขภาพจิตโลกของทุกปีก็เหมือนกับเป็นการเตือนใจให้เรารับรู้ว่าสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ต่างจากสุขภาพร่างกาย บางครั้งการพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดก็เป็นเรื่องปกติและจำเป็น โดยเฉพาะในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้