โรคยอดฮิตของคนติดมือถือ
แกเป็นใคร ! จับฉันมาทำไม ! / ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน๊… / ฮื้อ ฮื้อ ฮืออ ขอให้โชคดี นับตั้งแต่นี้ต้องไม่งอแงงง
ถ้าคุณรู้ทำนองของประโยคเหล่านี้ จนสามารถอ่านออกเสียงตามได้อย่างถูกต้อง ก็แสดงว่าระดับความติดโซเชียลมีเดียของคุณนั้นถือว่าไม่ธรรมดา ! แล้วการติดโซเชียลแบบนี้ส่งผลกระทบอะไรต่อสุขภาพของเราบ้าง มาดูกัน
ในอดีตที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับคำว่า ภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการมีลักษณะท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไปโดยไม่มีการลุกออกไปทำกิจกรรมอื่น หรือทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งซ้ำ ๆ ท่าเดิมเป็นเวลานาน
แต่ในยุคที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายที่ขาดไม่ได้ ทั้งพูดคุย ทำงาน พักผ่อน เล่นเกม ดูภาพยนตร์ / ซีรีย์ เข้าอินเทอร์เน็ต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเล่นโซเชียลมีเดียที่ถ้าเผลอกดเข้าไปเมื่อไหร่กว่าจะวางโทรศัพท์ได้แต่ละทีช่างยากเย็นเหลือเกิน
เรียกได้ว่าสมาร์ตโฟนแทบจะอยู่ในเกือบทุกกิจกรรมของเราใน 1 วัน ตั้งแต่เช้าตอนตื่นนอนจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายก่อนนอนหลับเลย ในช่วงเวลาเหล่านี้ใครหลายคนต่างก็ล้วนมีโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟนเป็นไอเทมสำคัญที่อยู่กับตัวเสมอ
โดยจากข้อมูลของ สสส. พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยมีอัตราการติดหน้าจอมือถือถึงสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง มากกว่าสถิติโลกในปัจจุบันเสียอีก ซึ่งปกติแล้วไม่ควรจะเกินสัปดาห์ละ 16 ชั่วโมง
และผลจากการติดสมาร์ตโฟนหรือโทรศัพท์มือถือนี้เองที่ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “สมาร์ตโฟนซินโดรม” ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพมากมายตามมา
โดยผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมาก็ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “ความผิดพลาดตรงไหน๊..” นอกจากการที่อยู่ในท่าก้มศีรษะเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งทำให้กระดูกต้นคอต้องรับแรงกดตลอดเวลา และยิ่งเราก้มมากเท่าไหร่กระดูกต้นคอก็ยิ่งต้องรองรับแรงกดมากขึ้นเท่านั้น โดยหากเราก้มลงในระยะเพียง 30 องศา อาจทำให้เกิดแรงกดสูงถึง 25 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ซ้ำร้ายการใช้สมาร์ตโฟนยังไม่ใช่แค่การก้มศีรษะเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีการใช้มือกดหรือยกมือถือขึ้นตลอดเวลา ส่งผลให้กล้ามเนื้อเอ็น แขน และข้อมือ มีอาการปวดได้ รวมถึงบางรายเองอาจมีอาการมือชาร่วมด้วยจากการกดทับของพังผืดข้อมือ
สำหรับอาการที่เกิดจากโรคสมาร์ตโฟนซินโดรมนี้ก็มีตั้งแต่อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง ปวดตา ตาแห้ง ตาแดงช้ำ ปวดหัว วิงเวียน ปวดข้อมือและนิ้วมือ ปวดกระดูก คอ บ่า อ่อนเพลีย
ไปจนถึงกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น โรควุ้นในตาเสื่อม ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาเพ่งจอมากเกินไป จนทำให้เห็นภาพเป็นคราบดำ คล้ายหยากไย่ และโรคนิ้วล็อก ซึ่งเป็นอาการเกร็งนิ้วจากการจิ้มหน้าจอเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ ของนิ้วอักเสบ หรือไม่สามารถขยับได้ รวมถึงโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท
นอกจากนี้การเสพติดมือถือยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายเพียงอย่างเดียว แต่อาจก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชร่วมด้วยได้ เช่น โรคโมโนโฟเบีย ซึ่งเกิดจากอาการติดโทรศัพท์มือถืออย่างรุนแรง จนทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลเมื่อไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ หรือไม่มีโทรศัพท์ใช้ และเกิดอาการเครียด ตัวสั่น หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้
รวมถึงภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการเสพสื่อโซเชียลมีเดียมากเกินไป จนทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า โดดเดี่ยว หรือหดหู่ เมื่อต้องคอยเปรียบเทียบกับความสำเร็จของผู้อื่นตลอดเวลา
แม้โดยภาพรวมอาการของโรคสมาร์ตโฟนซินโดรมอาจไม่ใช่อาการที่รุนแรงมาก แต่ถ้ามีอาการแล้วไม่ได้รับการรักษา หรือลดพฤติกรรมการติดมือถือดังกล่าวแล้ว ก็อาจทำให้อาการป่วยเหล่านี้ทรุดหนักลง และพัฒนากลายเป็นอาการป่วยแบบเรื้อรังได้ในที่สุด
แนวทางการป้องกันอาการสมาร์ตโฟนซินโดรมที่ดี คือควรเริ่มต้นที่การปรับนิสัยและพฤติกรรม ด้วยการสร้างวินัยในการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสมตั้งแต่วันนี้ อย่างการหากิจกรรมอื่น ๆ ทดแทนการนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ เช่น การท่องเที่ยว การออกกำลังกาย
หรือหากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็พยายามอยู่ในท่าทางที่ลำคออยู่ในแนวตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ก้มหลัง และไม่ห่อไหล่
นอกจากนี้ทุก ๆ 1 ชั่วโมง ควรวางมือถือ และหยุดพักเป็นระยะเวลา 10-15 นาที เพื่อเป็นการพักสายตา พักคอ พักข้อมือ พร้อมกับบริหารข้อมือเบา ๆ เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อ จบบทความนี้อย่าลืมรีบวางโทรศัพท์แล้วมาเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสมตั้งแต่วันนี้