ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed เพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง มุมมองของ BlackRock ต่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร?
BlackRock: ข้อมูลเงินเฟ้อจนถึงขณะนี้ในปี 2024 ได้ยืนยันมุมมองของเราว่าการปรับลดลงของเงินเฟ้อในช่วง “ระยะสุดท้าย” ไปสู่ระดับเงินเฟ้อเป้าหมาย 2% ของ Fed นั้น จะเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุผลสำเร็จ การจ้างงานที่แข็งแกร่งและราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล่าช้าจำนวนมากที่เพิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง มันจึงเป็นเรื่องยากที่อัตราเงินเฟ้อจะเย็นลง ในขณะที่ยังคงมีสภาพคล่องมากมายที่ไหลผ่านทั้งตลาดการเงินและเศรษฐกิจที่แท้จริง
ความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่แล้วก่อนที่จะมีความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ความขัดแย้งอันคาดเดาไม่ได้ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อสูงตลอดปี 2024 เนื่องจากราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และอันตรายจากการขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดงจะส่งผลกระทบต่อราคาค่าขนส่งสินค้าทั่วโลก ภาวะเงินฝืดของสินค้าช่วยชดเชยอัตราเงินเฟ้อภาคบริการที่ยังทรงตัวในระดับสูงอยู่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ตามภาพด้านบน ในกรณีที่ผลกระทบด้านพลังงานและต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นนั้น ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในปี 2024 ซึ่งในกรณีนี้ ไม่เพียงแต่เงินเฟ้อจะหยุดการชะลอตัวเท่านั้น แต่เงินเฟ้ออาจกลับมาสูงอีกครั้งด้วย
เราเห็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3% ในปี 2024 โดยมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่เราประเมินว่า เงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นสูงเกือบ 4% หากฉากทัศน์ด้านความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรงขึ้น
ในด้านอัตราดอกเบี้ย ความแข็งแกร่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) และธนาคารกลางทั่วโลกอยู่ในสถานะที่ท้าทาย หลังจากที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินในปี 2024 เราคิดว่าตลาดไม่สมเหตุสมผลนักเมื่อสะท้อนการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 6 ครั้ง ไปเมื่อต้นปีนี้ ซึ่ง ณ ระดับราคาปัจจุบันที่สะท้อนถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1.5-2 ครั้ง เราประเมินว่าสมเหตุสมผลมากกว่า อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ามีโอกาสที่ Fed อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเลย หรืออาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน แม้เราคิดว่า Fed พร้อมจะอดทนต่อการเดินทางไปสู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ช้าลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอีกครั้งทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดสถานการณ์คล้ายช่วงปี 1970 ขึ้นอีกครั้ง และอาจทำให้ Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป สำหรับภูมิภาคอื่นทั่วโลก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่แข็งแกร่งเท่ากับยุโรปหรือสหราชอาณาจักร แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากในขณะที่ Fed ยังคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง ก็อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศเหล่านั้นได้เช่นกัน
เราคิดว่า ค่าเฉลี่ยของ Fed Funds Futures ที่สะท้อนถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ เราคิดว่า Fed อาจจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไปเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรืออาจจำเป็นที่จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากเพื่อจัดการกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เราคิดว่าแนวทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่น่าจะเป็นไปได้
จากการประเมินข้างต้น ทำให้เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ณ ปัจจุบัน อยู่ในระดับที่เหมาะสม เราประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะอยู่ในกรอบ 3%-5.25% ในปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าจะแกว่งตัวอยู่ในระดับ 4-4.75% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี เนื่องจากตลาดยังได้รับสัญญาณที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความมีเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
มองไปข้างหน้า ผู้ลงทุนควรวางกลยุทธ์ตราสารหนี้ในมุมมองระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอย่างไร?
BlackRock: ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมากสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ มีหลากหลายปัจจัยด้วยกันที่ทำให้แนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงกรอบเวลาระยะสั้น/ ระยะกลาง/ ระยะยาว มีความแตกต่างกันมาก
ในระยะสั้น (3-6 เดือน) – เราคาดว่ามีแนวโน้มค่อนข้างบวกสำหรับตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้าน credit spreads เนื่องจากตลาดยังมองความแข็งแกร่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเชิงบวก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงหลักต่อมุมมองนี้ แต่ผลจากฐานเงินเฟ้อที่สูง (เมื่อปีก่อนหน้านี้) น่าจะช่วยให้เงินเฟ้อพื้นฐานไม่พุ่งขึ้นสูงมากจนเกินไป เราน่าจะเห็นราคาตราสารหนี้สะท้อนเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ยังไม่มีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกรอบระยะเวลานี้ ด้วยผลตอบแทนรวมเกือบ 6%
ผลตอบแทนรวมที่นักลงทุนคาดว่าจะได้รับจากการจ่ายดอกเบี้ย (Carry) คือพันธมิตรที่แข็งแกร่งสำหรับนักลงทุนตราสารหนี้ในระยะสั้น
ในระยะกลาง (6-18 เดือน) – ค่อนข้างท้าทายสำหรับนักลงทุนตราสารหนี้ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึงจะเพิ่มความผันผวนและเพิ่มค่าตอบแทนความเสี่ยง (risk premiums) ขึ้น เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ เราคาดว่าการใช้จ่ายการคลังจะขาดดุลเพิ่มขึ้นในปี 2025 ซึ่งถือเป็นปัจจัยเชิงลบต่อตลาดพันธบัตรฯ ความเป็นไปได้ที่ตลาดจะผิดหวังจากนโยบายของ Fed มีแนวโน้มที่จะแตะระดับสูงสุดในช่วงเวลานี้เช่นกัน ความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของรัฐบาล น่าจะทำให้ Fed คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงต่อไปอีก สร้างความผิดหวังให้กับผู้ที่คาดหวังว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งภายในปี 2024 นอกจากนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงสิ้นปี ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องของตลาดการเงินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น วงเงิน Reverse Repo น่าจะถูกใช้จนหมด ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) จะพยายามควบคุมขนาดงบดุลที่เหมาะสมในช่วงที่ตลาดผันผวน สิ่งนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงของตลาดการเงินเช่นเดียวกับช่วงปี 2019 เนื่องจากสภาพคล่องที่ล้นเหลือในระบบการเงินส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินพุ่งสูงขึ้น หากสถานะสภาพคล่องเปลี่ยนไปเป็นการลดสภาพคล่องออกจากระบบก็จะเป็นแรงกดดันต่อราคาสินทรัพย์ได้ ท้ายที่สุด เราควรจะเห็นผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน และโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยมีเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น เรามีมุมมองไม่สดใสนักต่อ credit spreads และผลการดำเนินงานของตราสารหนี้ในระยะกลาง
ในระยะยาว – ผลตอบแทนที่ได้รับจากดอกเบี้ย และอัตราผลตอบแทนเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญ ด้วยอัตราผลตอบแทนรวมที่สูงกว่าระดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เราเชื่อว่าตราสารหนี้เป็นการลงทุนระยะยาวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรับด้วยค่าความผันผวนเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ แนวโน้มเชิงโครงสร้าง อาทิ Artificial Intelligence (AI) จะเป็นปัจจัยหนุนให้มีการออกหุ้นกู้เอกชนมากขึ้น และช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะยาว สิ่งนี้จะสร้างความคาดหวังผลตอบแทนที่แท้จริงเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญสำหรับหุ้นกู้โดยพิจารณาจากระดับอัตราผลตอบแทนและอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ณ ปัจจุบัน
พันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนมากกว่า 4% เมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนของเงินสดที่สูง นักลงทุนจะยังได้ประโยชน์จากการเพิ่มความเสี่ยงเพื่อลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในตอนนี้หรือไม่?
BlackRock: ผลตอบแทนของเงินสดและพันธบัตรรัฐบาลที่สูงนี้ เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญว่า ทำไมเราจึงเห็นว่า credit spreads ของหุ้นกู้เอกชนค่อนข้างเต็มมูลค่าแล้ว ณ ระดับนี้ อย่างไรก็ดี ในบางกลุ่มธุรกิจ ยังเห็น credit spread ที่ค่อนข้างกว้าง เช่น กลุ่มธนาคาร ซึ่งน่าจะไม่ตึงตัวขึ้น เนื่องจากระดับของอัตราดอกเบี้ยและรูปร่างของเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกู้เอกชน และการให้ความสำคัญกับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (carry) / อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ (yield) ของภาวะตลาดในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนค่อนข้างแข็งแกร่ง จากมุมมองเชิงเทคนิคด้านอุปสงค์อุปทานที่เป็นบวกทำให้เราเห็นว่าหุ้นกู้ภาคเอกชนยังมีความน่าสนใจลงทุนในตอนนี้
ท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มขึ้นในตลาดตราสารหนี้ ความสัมพันธ์ของทิศทางราคาหุ้นและตราสารหนี้ (correlation) กลายเป็นเชิงบวกมากขึ้น (กล่าวคือ เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น) ในภาวะเช่นนี้ ตราสารหนี้ยังเป็นตัวช่วยการกระจายความเสี่ยงที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนหรือไม่? อย่างไร?
BlackRock: อัตราผลตอบแทน (yield) และอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่ได้รับ (carry) ของตราสารหนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการกระจายความเสี่ยงต่อการลงทุนหุ้น ถึงแม้ว่าเราคาดว่าในระยะอันใกล้นี้ ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างราคาหุ้นและตราสารหนี้จะยังดำเนินต่อไป สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาผลกระทบจากการได้รับดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่มาช่วยชดเชย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนอยู่ ณ ระดับนี้ ด้วยอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ระดับ 6% มันต้องใช้การปรับตัวของ yield/ spread ที่กว้างขึ้นเกือบ +100 จุด (bps) เพื่อลดผลบวกจากดอกเบี้ยต่อปีที่ได้รับ ซึ่ง ณ ระดับนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าจากระดับต่ำสุดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว นอกจากนั้น อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้น ณ ระดับปัจจุบัน ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล เราจึงยังเห็นถึงประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยงในระยะกลางถึงระยะยาวของตราสารหนี้ในสภาวะตลาดปัจจุบัน
หมายเหตุ: ข้อมูลอ้างอิงจาก “Stewardship Insights: BlackRock” ในรายงาน Quarterly Investment Insights ประจำไตรมาส 1/2024 โดย บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย)
เริ่มวางแผนการเงินระยะยาว กับ AIA InvestPro บริการผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยดูแลการลงทุนจาก AIA และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) พร้อมด้วยพันธมิตรด้านการลงทุนระดับโลก อาทิ BlackRock ผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน เอไอเอ ยูนิต ลิงค์ ที่เหมาะกับคุณได้แล้ววันนี้
กรอกรายละเอียดแบบฟอร์มด้านล่างเพื่อติดต่อตัวแทน เอไอเอ
คำเตือน:
- • ผู้ขอเอาประกันภัยควรทำความเข้าใจรายละเอียด เงื่อนไข ความคุ้มครองและข้อยกเว้น ก่อนตัดสินใจทำประกันภัย รวมทั้งศึกษาทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน
- ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์
- ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต